สำหรับเด็กระดับกลาง
สิ่งมีชีวิตต้องการอาหาร
เพื่อการเจริญเติบโต และเพื่อการมีชีวิต ดังนั้นสิ่งมีชีวิตจึงต้องกินอาหาร
พืชกินอาหารโดยการดูดน้ำ แร่ธาตุต่างๆ ทางราก และก๊าซทางใบ ส่วนสัตว์กินอาหาร
โดยใช้ฟันเคี้ยวอาหารแข็ง เพื่อให้อาหารเป็นชิ้นละเอียดผสมกับน้ำลาย
และย่อยได้ง่ายขึ้น
ฟันของคนมีหน้าที่กัด
ฉีก บด และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ช่วยในการพูด แทำให้รูปของปากและหน้ามีลักษณะได้สัดส่วนสวยงาม
ส่วนฟันของสัตว์ยังมีหน้าที่พิเศษอีก เช่น ใช้ป้องกันตัว
ใช้ล่าสัตว์ที่เล็กกว่าเป็นอาหาร
ฟันของคนมี ๒ ชุด คือ
ฟันน้ำนม และฟันแท้ ฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนมากมี ๒ ชุดเหมือนของคน เช่น
สุนัข แมว แกะ วัว ม้า ฟันของปลาฉลาม และจระเข้บางชนิดมีหลายชุด
แต่บางชนิดก็มีเพียงชุดเดียวเท่านั้น สัตว์มีปีก เช่น นก ไก่ ไม่มีฟัน
รูปร่างของฟันในคนและสัตว์แตกต่างกัน เช่น
ปลาฉลามมีฟันแหลม เป็นแผ่นโต และคมมาก ส่วนสุนัข แมว เสือ สิงโต มีเขี้ยวยาว
และแข็งแรง เพื่อช่วยในการล่าสัตว์
สำหรับเด็กระดับกลาง (๑๒-๑๔ ปี)
ฟัน เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย
เราจึงควรรักษาฟันให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ การกินอาหารที่ถูกต้อง
เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้ฟันเจริญเติบโตแข็งแรง ไม่หักง่าย
อาหารที่เรารับประทานควรเป็นอาหารที่มีแร่ธาตุบำรุงฟัน เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส
และโพแทสเซียม ซึ่งมีมากในน้ำนม นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอื่นๆ ที่เราควรรับประทาน
เช่น ฟลูออไรด์ วิตามิน เช่น เอ ดี ซี และบีรวม ก็มีความสำคัญ
ในการเจริญเติบโตของเหงือกและฟันด้วย
การกินอาหารประเภทแป้ง อาหารหวาน เช่น
ขนมหวานต่างๆ ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต ทำให้ฟันเสียง่ายขึ้น เพราะอาหารเหล่านี้
จะเข้าไปคลุมฟันและเกิดการบูดเน่า ทำให้เคลือบฟันกร่อน และทำให้ฟันผุ
ภายหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ควรรับประทาน อาหารที่มีเส้นใย เช่น ผักสดต่างๆ
หัวแครอท แอปเปิล สับปะรด ส้ม ฝรั่ง ซึ่งช่วยทำให้ฟันและซอกฟันสะอาด
อาหารที่ช่วยทำให้ฟันและซอกฟันสะอาด |
การบูดเน่าของอาหารในปากและซอกฟันเกิดขึ้นเร็วมาก
เพียงไม่กี่นาที ภายหลังที่เรารับประทานอาหารเข้าไป ดังนั้น
ภายหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ จึงควรแปรงฟันให้สะอาด
น้ำที่ใช้แปรงฟันควรเป็นน้ำเย็น เพราะน้ำอุ่น ทำให้ขนแปรงนิ่ม ถ้าไม่ได้แปรงฟัน
ก็ควรบ้วนปากด้วยน้ำที่สะอาด หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
อาหารที่ทำให้ฟันเสียง่าย |
อาหารที่ทำให้ฟันเสียง่าย
การรักษาฟันให้แข็งแรงทนทาน ควรปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน คือ
แปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เพราะช่วยให้ฟันสะอาด ป้องกันฟันผุ
ป้องกันโรคเหงือกอักเสบ และขจัดคราบอาหาร ที่สกปรก ทำให้ปากมีกลิ่นเหม็น
ควรไปหาทันตแพทย์ ตรวจฟันทุก ๖ เดือน โดยเฉพาะเมื่อเรามีอายุตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป
ทันตแพทย์จะตรวจฟันให้เรา และเอกซเรย์ เพื่อดูรากของฟัน และฟันผุ
ซึ่งบางครั้งอาจไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ทันตแพทย์จะช่วยแนะนำ
และรักษาฟันของเราอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการป้องกันการลุกลามของโรคฟัน
ถ้าเราทิ้งไว้ ไม่ไปตรวจ การลุกลามของโรคฟันจะรวดเร็ว ทำให้ปวดทรมานมาก
บางครั้งอาจจะต้องสูญเสียฟันไปก็ได้
สำหรับเด็กระดับโตและบุคคลทั่วไป
ฟันน้ำนมครบ ๒๐ ซี่ |
ฟันของเรามี
๒ ชุด คือ
ฟันชุดแรก เรียกว่า
ฟันน้ำนม
ฟันชุดที่ ๒ เรียกว่า
ฟันแท้
มี
๒๐ ซี่ แบ่งอยู่ในขากรรไกรบน ๑๐ ซี่ และอยู่ในขากรรไกรล่าง ๑๐ ซี่ ในแต่ละขากรรไกร
จะมีฟันหน้าหรือฟันตัด (incisor) ๔ ซี่ ฟันเขี้ยว (canine) ๒ ซี่ และฟันกราม (molar) ๔ ซี่
ฟันน้ำนมซี่แรกจะ ปรากฏให้เห็นในช่องปากเป็นฟันตัด เมื่ออายุได้ประมาณ ๖ เดือน
การขึ้นของฟันน้ำนมจะดำเนินเรื่อยไป และขึ้นครบทุกซี่ เมื่ออายุได้ประมาณ ๒
ขวบครึ่ง
ฟันแท้มี ๓๒ ซี่ แบ่งอยู่ในขากรรไกรบน
๑๖ ซี่ และอยู่ในขากรรไกรล่าง ๑๖ ซี่ ในแต่ละขากรรไกรมีฟัน หน้าหรือฟันตัด ๔ ซี่
ฟันเขี้ยว ๒ ซี่ ฟันกรามน้อย (premolar) ๔ ซี่
และฟันกราม ๖ ซี่ ฟันแท้ซี่แรกขึ้น ปรากฏให้เห็นในช่องปาก เป็นฟันกรามซี่ที่หนึ่ง
ซึ่งขึ้น เรียงต่อจากฟันกรามน้ำนมเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ ๖ ปี ฟันน้ำนมซี่แรกคือ
ฟันหน้า จะเริ่มหลุดและมีฟันแท้ซึ่ง เป็นฟันหน้าเช่นกันขึ้นแทนที่
เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ สีของฟันแท้จะเหลืองเข้มกว่าสีของฟันน้ำนม
สังเกตเห็นได้ชัด การหลุดของฟันน้ำนมและมีฟันแท้ ขึ้นมาแทนที่ จะดำเนินไป
จนอายุได้ประมาณ ๑๑ ปี ฟันน้ำนมก็หลุดหมด และมีฟันแท้ขึ้นแทนครบทุกซี่
การขึ้นของฟันแท้จะดำเนินไปจนครบทุกซี่เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๘-๒๐ ปี แต่บางคน
ฟันกรามซี่ที่ ๓ ไม่สามารถจะขึ้นได้ เนื่องจากมีเนื้อที่ไม่พอ เรียกว่า ฟันชน
หรือฟันคุด (impacted teeth) แต่บางคนก็ไม่มีฟันกรามซี่ที่
3 ดังกล่าว เนื่องจาก ไม่มีหน่อฟัน (tooth bud)
ฟันแท้ครบ ๓๒ ซี่ |
โครงสร้างของฟัน
ฟันแต่ละซี่จะประกอบขึ้นด้วยเนื้อเยื่อ
๔ ชนิด คือ
• เคลือบฟัน (enamel)
• เคลือบรากฟัน (cementum)
• เนื้อฟัน (dentin)
• ประสาทฟันหรือพัลป์ (pulp)
เคลือบฟัน คือ
เนื้อเยื้อแข็งชั้นนอกสุดของตัวฟัน จะมีสีขาวปนเหลือง ผิวเป็นมัน จัดว่า
เป็นส่วนที่แข็งที่สุดของร่างกาย
เคลือบรากฟัน จะมีส่วนประกอบคล้ายกับกระดูกของมนุษย์
แต่ไม่แข็งมากเหมือนเคลือบฟัน เคลือบรากฟันนี้ จะปกคลุมส่วนรากทั้งหมด
เนื้อฟัน เป็นเนื้อเยื่อแข็งอีกชนิดหนึ่ง
ซึ่งประกอบเป็นตัวฟันทั้งซี่ มีสีขาวนวลคล้ายงาช้าง
ประสาทฟันหรือพัลป์ เป็นเนื้อเยื่ออ่อน ประกอบด้วยเส้นประสาท เส้นโลหิต ระบบน้ำเหลือง
และเนื้อเยื่อยึดต่อ เนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นพลัป์นี้
จะติดต่อภายนอกตัวฟันทางรูเปิดเล็กๆ ตรงบริเวณปลายรากฟัน
แผนภาพตัดขวางตามแนวตั้ง แสดงโครงสร้างของฟันฝังอยู่ในกระดูกเบ้ารากฟันของขากรรไกร |
รูปร่างและหน้าที่ของฟัน
ฟันแต่ละซี่แบ่งออกเป็น
๓ ส่วน คือ ตัวฟัน คอฟัน รากฟัน
ตัวฟัน คือ
ส่วนของฟัน ซึ่งงอกขึ้นมาปรากฏในช่องปาก สามารถมองเห็นได้
คอฟัน คือ
ส่วนที่ต่อระหว่างตัวฟัน และรากฟัน ซึ่งเป็นส่วนของฟันที่มีเหงือกมาสัมผัสอยู่
รากฟัน เป็นส่วนหนึ่งของฟัน
ซึ่งฝังอยู่ในกระดูกเบ้ารากฟันของขากรรไกร
รากฟันนี้จะยึดต่อกับกระดูกเบ้ารากฟันด้วยเส้นใยยึดต่อที่เรียกว่า เอ็นปริทันต์ (periodontal
ligament) เอ็นปริทันต์นี้ทำหน้าที่คล้ายเบาะรองรับ
และถ่ายทอดแรงบดเคี้ยวจากฟันไปสู่กระดูกขากรรไกร เอ็นปริทันต์ที่อยู่ล้อมรอบรากฟัน
พร้อมด้วยเส้นโลหิต และเส้นประสาทรวมเรียกว่า เยื่อปริทันต์
ฟันแต่ละซี่
จะมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันกล่าวคือ
• ฟันตัด มีลักษณะแบนและบาง
มีขอบหน้าคมทำหน้าที่ตัดหรือกัด
• ฟันเขี้ยว มีลักษณะซี่ใหญ่
หนา แข็งแรง มียอดปลายแหลม สำหรับฉีกและดึง
• ฟันกรามน้อยและฟันกราม จะมียอดหรือปุ่ม
(cusp) หลายปุ่ม สำหรับขบและบดอาหารให้ละเอียด
ทำหน้าที่คล้ายโม่
ฟันแต่ละชนิดจะมีรากแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ
ฟันตัดและฟันเขี้ยว จะมีรากเดี่ยว ฟันกรามน้อยจะมีชนิดรากเดี่ยวและรากคู่
ส่วนฟันกรามในขากรรไกรล่างมีรากคู่ แต่ฟันกรามในขากรรไกรบนจะมี ๓ ราก
การเจริญเติบโตของฟัน
ฟันน้ำนมและฟันแท้ จะเจริญเติบโตมาจากตุ่มหรือหน่อฟัน
(tooth bud) ซึ่งหน่อฟันนี้จะเจริญเติบโตมาจากการพัฒนาตัวเอง
ของเนื้อเยื่อบางส่วนในช่องปาก ได้งอกเข้าไปในขากรรไกร
หน่อฟันนี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กอยู่ในท้องของแม่ มีอายุได้ ๖ สัปดาห์
หน่อฟันนี้จะมีทั้งของฟันน้ำนม และของฟันแท้ การเจริญเติบโตของหน่อฟัน ครั้งแรกจะเริ่มเป็นเนื้อเยื่ออ่อนก่อน
แล้วจะเปลี่ยนไปเป็นเนื้อเยื่อชนิดแข็ง การเจริญเติบโตจะค่อยเป็นค่อยไป
โดยส่วนของตัวฟันจะเริ่มขึ้นก่อน ขณะที่เด็กคลอดนั้น
ส่วนที่เป็นตัวฟันน้ำนมจะสร้างเป็นเนื้อเยื่อแข็งหมดแล้วทุกซี่
แต่ยังฝังตัวอยู่ในกระดูกขากรรไกร ส่วนที่เป็นรากฟันยังไม่สมบูรณ์
เมื่อเด็กคลอดได้อายุประมาณ ๖ เดือน
ฟันน้ำนมซี่หน้าหรือฟันตัดในขากรรไกรล่างจะงอกพ้นขอบเหงือกให้แลเห็นได้ในช่องปาก
ความผิดปกติและโรคของฟันและเหงือก
โรคฟันผุ
เกิดขึ้นเนื่องจากเคลือบฟัน
และเนื้อฟันถูกทำลายโดยกรด ซึ่งเป็นผลจากปฏิกิริยาระหว่างเชื้อจุลินทรีย์
ซึ่งมีอยู่ประจำในช่องปาก กับอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
การผุของฟันจะเริ่มที่เคลือบฟันก่อน แล้วค่อยๆ ลุกลามไปยังเนื้อฟัน
และถึงโพรงประสาทฟัน เมื่อถึงระยะนี้แล้ว เนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันอาจติดเชื้อได้
อาการของโรคอาจลุกลามไปถึงปลายรากฟัน และทำให้เกิดฝี ที่ปลายรากฟัน
ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมได้ บางรายฝีที่เกิดขึ้น
จะทำให้กระดูกเบ้ารากฟันบริเวณนั้นละลายตัว เป็นทางผ่านของหนองฝี
เกิดออกข้างกระดูกสันเหงือกด้านกระพุ้งแก้ม
หรือหนองฝีอาจแตกผ่านทะลุออกทางกระพุ้งแก้ม มีอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน เมื่อเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันติดเชื้อแล้ว
อาการไม่รุนแรง โดยเกิดเป็นถุงน้ำ (cyst) ที่บริเวณปลายรากฟันได้
ฟันและเหงือกของเด็ก ซึ่งมีทันตสุขภาพสมบูรณ์ดี |
การตรวจพบฟันผุ ในระยะเริ่มแรก
และขจัดเอาส่วนที่ผุออก แล้วบูรณะ หรืออุดด้วยวัสดุอุดฟันที่เหมาะสม
ก็สามารถจะเก็บฟันซี่นั้นๆ ไว้ใช้งานต่อไปได้
ฟันผุในฟันหลัง ซึ่งได้รับการอุดด้วยอะมัลกัมเงินสามารถทนต่อแรงบดเคี้ยวได้ดี |
การป้องกันโรคฟันผุนั้นสามารถทำได้
โดยให้เด็กในระยะที่ฟันกำลังเจริญเติบโต ได้ดื่มน้ำที่ผสมสารฟลูออไรด์ ในอัตราส่วน
สารฟลูออไรด์ ๑ ส่วนต่อน้ำดื่มล้านส่วน เป็นประจำ
ร่วมกับการทำความสะอาดฟันที่ถูกต้อง ร่วมกับการทาน้ำยาฟลูออไรด์ลงบนตัวฟัน
การสึกกร่อนของฟัน
อาจเกิดขึ้นเนื่องจากใช้ฟันเคี้ยวอาหารประเภทกรอบแข็ง
หรือนอนกัดฟัน ซึ่งมักจะเกิดทางด้านหน้าสบของฟัน หรืออาจเกิดตามแนวคอฟัน
เนื่องมาจากการใช้แปรงที่ขนแปรงแข็งเกินควร ร่วมกับการแปรงฟันไม่ถูกวิธี ฟันสึก
และกร่อนนั้น สามารถบูรณะให้ใช้งานได้ ด้วยการอุดหรือทำครอบฟันด้วยวัสดุที่เหมาะสม
การสบฟันที่ผิดปกติ หรือฟันขึ้นไม่เป็นระเบียบ
ในรายที่ฟันขึ้นไม่เป็นระเบียบ
ซ้อนหรือเก จะทำให้ขากรรไกรล่างเคลื่อนตัวไม่เป็นอิสระขณะเคี้ยวอาหาร
ในบางครั้งอาจมีเสียงดังบริเวณกกหู ขณะอ้าปาก หรือหุบปาก
เนื่องมาจากข้อต่อขากรรไกรเคลื่อน ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีอาการเจ็บปวดที่ข้อต่อขากรรไกรที่บริเวณกกหู
อาจเป็นข้างเดียว หรือสองข้าง
และอาจมีอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อบริเวณแก้มร่วมด้วย
นอกจากนี้ในรายที่มีการสบของฟันผิดปกติ ฟันซ้อนหรือเก
จะทำให้ยากแก่การรักษาสุขภาพฟัน จึงเป็นเหตุอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ
และโรคปริทันต์อีกด้วย
การสบฟันที่ผิดปกติ โดยฟันหน้าในขากรรไกรล่าง
ครอบฟันหน้าในขากรรไกรบน ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจมีปัญหา เกี่ยวกับข้อต่อขากรรไกรได้
ในภายหลัง
การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนด หรือฟันน้ำนมหลุดช้ากว่ากำหนด
เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ฟันแท้ขึ้นมา แล้วมี
การสบฟันที่ผิดปกติ (ในคนเดียวกัน)
เมื่อได้รับการแก้ไขทางทันตกรรมจัดฟันแล้ว ฟันจะสบกันอยู่อย่างถูกต้อง
และใช้บดเคี้ยวได้อย่างปกติ
การแก้ไขฟันที่สบกันผิดปกติ ซ้อนหรือเก กระทำได้โดยทางทันตกรรมจัดฟัน |
ในรายที่มีการสบฟันผิดปกติ เนื่องจากปากแหว่ง
และเพดานโหว่นั้น ก็สามารถจัดฟันให้มีการสบของฟันที่ดีขึ้น
ซึ่งจะต้องกระทำร่วมกันระหว่างทันตกรรมจัดฟันและทางศัลยกรรม
โรคปริทันต์
ปริทันต์ คือ อวัยวะรอบๆ ตัวฟัน ได้แก่
เหงือกเคลือบรากฟัน เยื่อปริทันต์ และกระดูกเบ้ารากฟัน
โรคปริทันต์ที่พบมากที่สุดคือ โรคเหงือกอักเสบ (gingivits) สังเกตเห็นได้จากการที่ขอบเหงือกรอบๆ
ตัวฟันจะเปลี่ยนสีจากสีชมพูไปเป็นสีแดง ขอบเหงือกจะแยกออกจากคอฟัน
ทำให้เกิดช่องว่างลักษณะเป็นกระเป๋าระหว่างคอฟันกับเหงือก เหงือกที่มีการอักเสบนี้
จะเป็นแผล และมีเลือดออกได้ง่าย แม้ขณะรับประทานอาหาร หรือแปรงฟัน
ถ้าปล่อยให้การอักเสบนี้ดำเนินต่อไป โรคจะลุกลามไปถึงเนื้อเยื่อปริทันต์
และกระดูกเบ้ารากฟัน ทำให้มีช่องว่างระหว่างฟันกับเบ้ารากฟัน ฟันจะโยกคลอนได้
เมื่อโรคดำเนินมาถึงระยะนี้แล้ว เรียกว่า โรคปริทันต์ (periodontitis) หรือระมะนาด
สาเหตุของโรคปริทันต์ ได้แก่
การรักษาสุขภาพฟันไม่ดีพอ ทุพโภชนา การใส่ฟันปลอมบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง
ฟันสบกันผิดปกติ ฟันซ้อน หรือเก รวมถึงการถอนฟันบางซี่ไป แล้วปล่อยช่องว่างไว้
ทำให้ฟันข้างเคียงล้มหรือเอียง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางชนิด เช่น
ในวัยที่เริ่มเป็นหนุ่มสาว หรือหญิงมีครรภ์ นอกจากนั้นผู้ที่ได้รับสารพิษบางอย่าง
เช่น สารตะกั่วหรือปรอท ก็ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้
ฟันปลอม
ฟันที่ไม่สามารถจะรักษาไว้ได้แล้ว จำเป็นจะต้องถอนออกไป
เมื่อฟันได้ถูกถอนออกไปแล้ว จะเกิดช่องว่างขึ้น
สมควรใส่ฟันเข้าแทนที่ในช่องว่างนั้น การใส่ฟันปลอมทดแทนบางตำแหน่งนี้
มีทั้งชนิดถอดได้ และชนิดติดแน่น ฟันปลอมชนิดถอดได้ ยังแบ่งออก เป็นชนิดฐานโลหะ
หรือชนิดฐานเป็นพลาสติก ส่วนชนิดติดแน่นนั้น ครอบและสะพานฟันควรเป็นโลหะ
และเพิ่มความสวยงาม ด้วยการปิดทับ ด้วยพลาสติกชนิดทำฟันปลอม
หรือปิดทับด้วยพอร์ซเลน (porcelain) สีเหมือนฟัน
ลักษณะของฟันปลอมชนิดถอดได้ ซึ่งมีชนิดฐานเป็นโลหะและพลาสติก |
รายที่สูญเสียฟันทั้งปาก ควรใส่ฟันปลอมทั้งชุด
เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวอาหาร ปัจจุบันวิทยาการได้ก้าวหน้าขึ้นมาก
แม้จะต้องใส่ฟันทั้งปากก็ไม่จำเป็นต้องมีสารยึดเหนี่ยวใส่ระหว่างฟันปลอมกับเหงือก
เพื่อช่วย ให้ฟันปลอมยึดติดกับเหงือก แต่ฟันปลอมทั้งปาก
สามารถยึดติดกับสันเหงือกได้ด้วยแรงสุญญากาศ ร่วมกับความสามารถของผู้ใช้เอง
การทำความสะอาด
แม้เด็กเล็กฟันน้ำนมยังไม่ขึ้นปรากฏให้เห็นก็ตาม
ควรได้รับการทำความสะอาดในช่องปากเป็นประจำ กล่าวคือ ภายหลังการดูดนมแล้ว
ควรให้ดูดหรือดื่มน้ำตามทันที เพื่อเป็นการชะล้างคราบน้ำนม นอกจากนี้
ควรใช้ผ้านิ่มๆ ที่สะอาด ชุบน้ำแห้งหมาดๆ ถูบริเวณสันเหงือกเบาๆ
เป็นการเช็ดทำความสะอาด และฝึกความเคยชินให้แก่เด็ก เมื่อมีฟันน้ำนมขึ้นแล้ว
จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการแปรงฟันให้แก่เด็ก
การใช้ผ้าทำความสะอาดฟันให้เด็ก |
เมื่อฟันน้ำนมขึ้นแล้ว
เด็กจะชอบกัดและแทะอาหารที่เป็นชิ้น เศษอาหารมักจะติดตามซอกฟัน
ภายหลังรับประทานอาหารแล้ว ควรแปรงฟัน และใช้เส้นใยไหม หรือเส้นใยไนลอน
ทำความสะอาด ระหว่างซอกฟันด้วย
การเลือกใช้แปรงสีฟัน
ควรเลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดพอเหมาะ
คือ ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ขนแปรงจะต้องนิ่ม หน้าของขนแปร ตัดเรียบเสมอกัน
ขนแปรงอาจทำจากเส้นใยไนลอน หรืออาจทำจากขนสัตว์ เช่น ขนหมู แปรงที่ใช้งานจนกระทั่ง
ขนแปรงแตก งอ บานออกจากแถวขนแปรง เป็นแปรงที่หมดสภาพการใช้งาน ควรหามาทดแทนใหม่
ลักษณะของแปรงสีฟันที่ดี |
วิธีแปรงฟัน
การแปรงฟันมีหลายวิธี
วิธีที่ง่ายคือ ถือหลักว่า ทิศทางการแปรงจะต้องแปรงจากเหงือกไปสู่ฟัน การวางแปรง
จะต้องวางให้ขนแปรงทาบขนานไปกับตัวฟัน ให้ขนแปรงบางส่วนสัมผัสเหงือกบริเวณคอฟัน
กดขน แปรงให้แนบกับฟันและเหงือก บิดข้อมือให้ขนแปรงผ่านจากเหงือกไปสู่ฟัน
ขนแปรงบางส่วนจะชอนเข้าไป ทำความสะอาดระหว่างซอกฟัน
และขนแปรงส่วนที่สัมผัสขอบเหงือก จะช่วยทำการนวดเหงือกด้วย ในขณะแปรงฟัน
การแปรงฟันจำเป็นจะต้องแปรงตัวฟัน ด้านติดกระพุ้งแก้ม ตัวฟันด้านติดกับลิ้น
และหน้าสบของฟันด้วย นอกจากนี้การทำความสะอาดฟันให้ถูกต้อง
จำเป็นต้องใช้เส้นใยไนลอน ทำความสะอาดซอกฟันด้านที่ติดกันอีกด้วย
การวางตุ่มยางทำความสะอาดฟัน จะวางสอดปลายตุ่มยางเข้าระหว่างซอกฟัน
โดยให้แนวตุ่มยางทำมุมกับแนวฟันราว ๔๕ องศา คลึงเบาๆ
โดยการโยกตุ่มยางให้หมุนอยู่กับที่แล้วบิดตุ่มยางออกไปทางด้านสบของฟัน
การทำความสะอาดฟันปลอมชนิดติดแน่นบางส่วน
นอกจากต้องแปรงฟันดังกล่าวแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้เส้นใยไนลอน
สอดเข้าทำความสะอาดใต้สะพานฟันอีกด้วย ส่วนฟันปลอมชนิดถอดได้จะต้องถอดออกล้าง
และแปรงทำความสะอาด ด้วยสบู่หรือยาสีฟันทุกครั้งหลังอาหาร
แปรงสีฟันเมื่อใช้แล้ว
ควรสลัดขนแปรงให้แห้ง วางหรือแขวนในที่ที่มีลมโกรก
และมีแสงแดดส่องถึงได้บ้าง ไม่ควรเก็บไว้ในกล่องหรือตลับ
เพราะจะทำให้ขนแปรงไม่แห้ง มีเชื้อราเกิดขึ้นที่ซอกขนแปรง
การแปรงฟันหน้าล่าง ด้านติดกับลิ้น |
การตรวจสุขภาพในช่องปาก ควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง
เพื่อตรวจสุขภาพฟันและเหงือก เมื่อพบฟันผุ หรือพบโรคของเหงือก
จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังจะได้รับคำแนะนำว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
มีข้อบกพร่องในการรักษาสุขภาพฟันและเหงือกอย่างไร
จะได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป
อ้างอิง : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 9 หอสมุดกลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หน้า 153-163
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น